logo
กรมธนารักษ์
สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นนทบุรี
THE TREASURY
DEPARTMENT
MENU
  • A
  • A
  • A

เกี่ยวกับจังหวัด

ตราประจำจังหวัดนนทบุรี

 

 

คำขวัญประจำจังหวัดนนทบุรี

พระตำหนักสง่างาม  ลือนามสวนสมเด็จ  เกาะเกร็ดแหล่งดินเผา
วัดเก่านามละบือ  เลื่องลือทุเรียนนนท์  งามน่ายลศูนย์ราชการ

 

วิสัยทัศน์จังหวัดนนทบุรี

"นนทบุรี ที่อยู่อาศัยชั้นดีของคนทุกระดับ  พร้อมสรรพธุรกิจ ภาคบริการและภาคการผลิต ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน"

 

ต้นไม้ประจำจังหวัดนนทบุรี

ต้นนนทรี

 

ประวัติจังหวัดนนทบุรี ช่วงก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

     จังหวัดนนทบุรีเป็นเมืองเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตำบลที่ตั้งเมืองนนทบุรีขึ้นมาครั้งแรกนั้นมีชื่อว่า บ้านตลาดขวัญ ต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองนนทบุรี เมื่อ พ.ศ. 2092 ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารว่า "ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าให้สถาปนาที่พระราชทานเพลิงนั้น เป็นพระเจดีย์วิหารสำเร็จแล้ว ให้พระนามชื่อ วัดสบสวรรค์ แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า ไพร่บ้านเมืองตรี จัตวา ปากใต้ฝ่ายเหนือเข้าพระนครครั้งนี้น้อย หนีออกอยู่ป่าดงห้วยเขา ต้อนไม่ได้เป็นอันมาก ให้เอาบ้านท่าจีนตั้งเป็นเมืองสาครบุรี ให้เอาบ้านตลาดขวัญตั้งเป็นเมืองนนทบุรี ให้แบ่งเอาแขวงเมืองราชบุรี แขวงเมืองสุพรรณบุรี ตั้งเป็นเมืองนครชัยศรี

 บ้านตลาดขวัญเป็นดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์และเป็นสวนผลไม้ที่ขึ้นชื่อแห่งหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ฝรั่งต่างชาติที่ได้เดินทางเข้ามาค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาต่างก็ได้บันทึกเอาไว้ ดังปรากฏในจดหมายเหตุบันทึกการเดินทางของลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศสผู้ซึ่งเดินทางเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า "สวนผลไม้ที่บางกอกนั้น มีอาณาบริเวณยาวไปตามชายฝั่ง โดยทวนขึ้นสู่เมืองสยามถึง 4 ลี้ กระทั่งจรดตลาดขวัญ ทำให้เมืองหลวงแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลาหาร ซึ่งคนพื้นเมืองชอบบริโภคกันนักหนา    

   ตัวเมืองนนทบุรีแต่เดิมนั้นตั้งอยู่ที่ตำบลบางกระสอในปัจจุบันนี้ โดยมีวัดหัวเมือง (เดี๋ยวนี้เป็นวัดร้าง ทางราชการได้ใช้เป็นสถานที่สร้างโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า) เป็นเขตเหนือ และมีวัดท้ายเมืองเป็นเขตใต้

     พ.ศ. 2081 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้โปรดให้ขุดคลองลัดจากคลองบางกรวย (แม่น้ำเจ้าพระยา) ริมวัดชลอ ไปทะลุวัดมูลเหล็ก (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสุวรรณคีรี)

   พ.ศ. 2179 พระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดตอนใต้วัดท้ายเมืองไปทะลุออกหน้าวัดเขมา เพราะเดิมมาแม่น้ำเจ้าพระยาไหลวกเข้าแม่น้ำอ้อมมาทางบางใหญ่ แล้ววกเข้าคลองบางกรวยข้างวัดชะลอมาออกหน้าวัดเขมา เมื่อขุดคลองลัดแล้วกระแสน้ำเปลี่ยนทางเดินไหลเข้าคลองลัดที่ขุดใหม่ นานเข้าก็กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่ดังปัจจุบัน ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมก็ตื้นเขินกลายเป็นคลองไป

    พ.ศ. 2208 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเห็นว่า ตามที่แม่น้ำเปลี่ยนทางเดินใหม่นั้น ทำให้ข้าศึกประชิดพระนครได้ง่าย จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการตรงปากแม่น้ำอ้อม และโปรดให้ย้ายเมืองนนทบุรีมาอยู่ปากแม่น้ำอ้อมด้วย (ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รื้อป้อมและเมืองบางส่วน เพื่อนำอิฐไปสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติ และบางส่วนก็ถูกกระแสน้ำพัดเซาะพังทลายลงน้ำไป ปัจจุบันเหลือแต่ศาลหลักเมืองเท่านั้น)

     นอกจากป้อมที่ปากแม่น้ำอ้อมแล้ว เข้าใจว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาคงจะได้มีการสร้างป้อมไม้เอาไว้ที่บริเวณวัดเฉลิมพระเกียรติในปัจจุบันนี้ด้วย เพราะปรากฏหลักฐานจากจดหมายเหตุรายวันของบาทหลวงเดอ ซัวซีย์ ผู้ซึ่งเดินทางร่วมมากับคณะราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่เข้ามาเจริญทาง พระราชไมตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. 2228 ว่า "เช้าวันนี้เราผ่านป้อมที่ทำด้วยไม้ 2 ป้อม ป้อมหนึ่งยิงปืนเป็นการคำนับ 10 นัด อีกป้อม 8 นัด ที่นี่มีแต่ปืนครกเท่านั้น ดินปืนดีมากทีเดียว ป้อมทางขวามือเรียกป้อมแก้ว และป้อมทางซ้ายมือเรียกป้อมทับทิม ณ ที่นี้เจ้าเมืองบางกอกก็กล่าวคำอำลาและอ้างเหตุว่าได้ควบคุมเรือขบวนมากส่งจนสุดแดนที่อยู่ในความปกครองของเมืองบางกอกแล้ว แล้วก็ลาท่านราชทูตกลับไป

     และในปี พ.ศ. 2230 เมื่อลาลูแบร์เป็นราชทูตเข้ามากรุงศรีอยุธยา ก็ได้กล่าวถึงป้อมไม้แห่งนี้ไว้ด้วย โดยเขียนเป็นแผนที่เอาไว้อย่างชัดเจนตามหลักฐานดังกล่าว จึงเข้าใจว่าป้อมแก้วคงตั้งอยู่ ณ บริเวณตลาดแก้ว ส่วนป้อมทับทิมเข้าใจว่าคงตั้งอยู่ ณ บริเวณหน้าวัดเฉลิมพระเกียรติปัจจุบันนี้

     พ.ศ. 2264 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ได้ทรงโปรดให้ขุดคลองลัดเก็ด ที่อำเภอปากเกร็ด ดังปรากฏในหลักฐานในพงศาวดารว่า "ในปีขาล จัตวาศก ทรงพระกรุณาโปรดให้พระธนบุรีเป็นแม่กลอง เกณฑ์พลนิกายคนหัวเมืองปากใต้ให้ได้คน 10,000 เศษ ให้ขุดคลองเตร็ดน้อย ลัดคุ้งบางบัวทองนั้นคดอ้อมหนัก ขุดลัดตัดให้ตรง พระธนบุรีรับสั่งแล้วกราบบังคมลามาให้เกณฑ์พลนิกายในบรรดาหัวเมืองปากใต้ได้คน 10,000 เศษ ให้ขุดคลองเตร็ดน้อยนั้นลึก 6 ศอก กว้าง 6 วา ยาวทางไกลได้ 39 เส้นเศษ ขุดเดือนเศษจึงแล้ว

     พ.ศ. 2307 ในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ได้มีเหตุการณ์สงครามเกี่ยวข้องกับจังหวัดนนทบุรี เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเพียงเล็กน้อย คือเมื่อมังมหานรธาเป็นแม่ทัพพม่ายกทัพเข้าตีเมืองทวาย เมืองตะนาวศรีได้ แล้วยกติดตามตีพวกมอญมาจนถึงเมืองชุมพรได้โดยสะดวก จึงมีความกำเริบคิดยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏในพงศาวดารว่า "ครั้ง ณ เดือน 7 มังมหานรธาให้แยงตะยุกลับขึ้นไปแจ้งราชการ ณ กรุงอังวะ แล้วจึงปรึกษากันว่า เรามาตีเมืองทวายได้ บัดนี้หามีผู้ใดจะต้านต่อฝีมือทแกล้วทหารเราไม่ ควรเราจะยกเข้าไปชิงเอาซึ่งเศวตฉัตร ณ กรุงเทพมหานคร แล้วมังมหานรธาก็เดินทัพมุ่งเข้าตีกรุงศรีอยุธยาโดยลำดับ จนถึงเมืองนนทบุรี ซึ่งก็ถูกมังมหานรธาตีแตกเช่นเดียวกับเมืองรายทางอื่นๆ ดังพงศาวดารกล่าวว่า "ครั้ง ณ เดือน 10 พม่ายกทัพเรือลงมาตีค่าย (บาง) บำรุแตก แล้วยกมาตีเมืองนนทบุรีได้

      เมื่อพม่าตีได้เมืองนนทบุรีแล้ว ขณะนั้นมีเรือกำปั่นอังกฤษเข้ามาค้าขายที่ธนบุรี จึงรับอาสาช่วยรบพม่า พม่าเอาปืนใหญ่ตั้งบนป้อมวิชาเยนทร์ ยิงโต้ตอบกับกำปั่น ในที่สุดกำปั่นสอนสมอหนีไปอยู่ที่เมืองนนท์ เมืองนนทบุรีจึงเป็นยุทธภูมิระหว่างเรือกำปั่นอังกฤษกับพม่า ดังปรากฏในพงศาวดารว่า "ฝ่ายทัพพระยายมราช ซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองนนท์นั้น ก็เลิกหนีขึ้นไปเสีย พม่าตั้ง (อยู่) เมืองธนบุรีแล้ว จึงแบ่งกันขึ้นมาตั้งค่าย ณ วัดเขมา ตำบลตลาดแก้วทั้งสองฟาก ครั้นเพลากลางคืน นายกำปั่นจึงขอเรือกราบมาชักสลุล่องลงไปไม่ให้มีปากเสียง ครั้นตรงค่ายพม่า ณ วัดเขมาแล้วก็จุดปืนรายแคมพร้อมกันทั้งสองข้าง ฝ่ายพม่าต้องปืนล้มตายเจ็บลำบาก แตกวิ่งออกจากค่าย ครั้นนำขึ้นเพลาเช้า สลุบถอยมาหากำปั่นซึ่งทอดอยู่ ณ ตลาดขวัญ ฝ่ายพม่าก็ยกเข้าค่ายเมืองนนทบุรี

ประวัติจังหวัดนนทบุรี ช่วงปัจจุบัน

     ปัจจุบันจังหวัดนนทบุรีตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย เป็นหนึ่งในห้าจังหวัดปริมณฑลของกรุงเทพฯ อันประกอบด้วย นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม สมุทรสาคร และปทุมธานี โดยจังหวัดนนทบุรีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 20 กิโลเมตร

     จังหวัดนนทบุรีนั้น ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาแบ่งพื้นที่ของจังหวัดออกเป็นสองส่วน คือ ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ด้วยเหตุนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ของนนทบุรีจึงเป็นที่ราบลุ่ม มีคลองทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและคูคลองที่ขุดขึ้นในยุคสมัยต่างๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งคลองแต่ละสายก็สามารถเชื่อมต่อกัน และสามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาหาสู่ และติดต่อกันระหว่างหมู่บ้าน ตำบล และจังหวัด ทำให้เกิดเป็นย่านชุมชนหนาแน่นขึ้นตามริมน้ำเจ้าพระยาและริมคลองสายต่างๆ ชาวนนทบุรีจึงดูจะเป็นชาวไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่คุ้นเคยกับสายน้ำมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

     ส่วนพื้นที่ของจังหวัดในบางอำเภอ ซึ่งเคยเป็นสวนผลไม้และมีเขตติดต่อกับกรุงเทพฯ ก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนที่ได้ย้ายถิ่นมาจากทุกภาคของประเทศ นอกจากนี้พื้นที่ในบางอำเภอของจังหวัดนนทบุรียังเป็นที่รองรับการขยายตัวในด้านอุตสาหกรรมและธุรกิจจากกรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่บางส่วนของอำเภอเมืองนนทบุรี ปากเกร็ด บางกรวย บางใหญ่ และบางบัวทอง ทำให้มีการจัดสรรพื้นที่เพื่อก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยและโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจเพิ่มมากขึ้น นนทบุรีจึงเป็นจังหวัดที่มีปริมาณการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีสูงอีกจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย

จังหวัดนนทบุรี ตั้งอยู่ในภาคกลางเป็นจังหวัดหนึ่งใน 5 จังหวัดปริมณฑล คือ นนทบุรีสมุทรปราการ นครปฐม สมุทรสาคร และปทุมธานี มีเนื้อที่ประมาณ 622 ตารางกิโลเมตร มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่า และแบ่งพื้นที่ของจังหวัดออกเป็น 2 ส่วน ขนาดของจังหวัดเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดในภาคกลางแล้ว มีขนาดเกือบจะเล็กที่สุดยกเว้นจังหวัดสมุทรสงคราม

 

เมืองนนทบุรีมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 400 ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีคูคลองน้อยใหญ่มากมาย มีเนื้อที่ประมาณ 622.303 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองเก่าแก่ สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านตลาดขวัญ ซึ่งเป็นสวนผลไม้ที่ขึ้นชื่อในสมัยนั้น ได้รับการยกฐานะเป็นเมืองนนทบุรี เมื่อ พ.ศ. 2092 รัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ต่อมาในปี พ.ศ. 2179 พระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดตอนใต้วัดท้ายเมืองไปทะลุวัดเขมา เพราะเดิมนั้น แม่น้ำเจ้าพระยาไหลวกเข้าแม่น้ำอ้อมมาทางบางใหญ่วกเข้าคลองบางกรวยข้างวัดชลอ มาออกหน้าวัดเขมา เมื่อขุดคลองลัดแล้ว แม่น้ำก็เปลี่ยนทางเดินไหลเข้าคลองลัดที่ขุดใหม่ กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่ดังปัจจุบันนี้ เมื่อ พ.ศ. 2208 สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่า แม่น้ำเปลี่ยนทางเดินใหม่นั้น ทำให้ข้าศึกประชิดพระนครได้ง่าย จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการตรงปากแม่น้ำอ้อม และโปรดฯ ให้ย้ายเมืองนนทบุรีมาอยู่ปากแม่น้ำอ้อมด้วย ยังมีศาลหลักเมืองปรากฏอยู่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ โปรดฯ ให้ย้ายเมืองนนทบุรี ไปตั้งที่ปากคลองบางซื่อบ้านตลาดขวัญ และในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้ตั้งศาลากลางเมือง ขึ้นที่ปากคลองบางซื่อ ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงปี พ.ศ. 2471 รัชกาลที่ 7 ทรงโปรดฯ ให้ย้ายศาลากลางมาตั้งที่ราชวิทยาลัย บ้านบางขวาง ตำบลบางตะนาวศรี ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกองฝึกอบรม กระทรวงมหาดไทย ตั้งอยู่บนถนนประชาราษฎร์ สาย 1 อำเภอเมือง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรปตามอาคารประดับด้วยไม้ฉลุ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กรมศิลปากรได้ขึ้นบัญชีเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่ง และในปัจจุบันศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่ถนนรัตนาธิเบศร์

 

อาณาเขตและการปกครอง :

ทิศเหนือ ติดจังหวัดปุทมธานี และพระนครศรีอยุธยา
ทิศใต้ ติดกรุงเทพมหานคร
ทิศตะวันออก ติดกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปทุมธานี
ทิศตะวันตก ติดจังหวัดนครปฐม

 

แบ่งเขตการปกครองออกเป็น อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด อำเภอบางกรวย อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง อำเภอไทรน้อย

 

 

ข้อมูลการเดินทางของ นนทบุรี
รถยนต์
รถยนต์ มีถนนสายสำคัญ ๑๑ สาย คือ

  1. ถนนพิบูลสงคราม ระหว่างเชิงสะพานพระรามหก - สี่แยกโรงภาพยนตร์ศรีพรสวรรค์
  2. ถนนประชาราษฎร์ สาย ๑ ระหว่างศาลากลางจังหวัด - สี่แยกโรงภาพยนตร์ศรีพรสวรรค์
  3. ถนนติวานนท์ ระหว่างสามแยกวัดลานนาบุญ-ท่าน้ำปทุมธานี
  4. ถนนงามวงศ์วาน ระหว่างสี่แยกแคลาย-สี่แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  5. ถนนนนทบุรีระหว่างศาลากลางจังหวัด-ถนนติวานนท์
  6. ถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างสี่แยกปากเกร็ด-สี่แยกหลักสี่
  7. ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ระหว่างสะพานพระรามหก-อำเภอไทรน้อย
  8. ถนนบางบัวทอง-ตลิ่งชัน ระหว่างแยกบางบัวทอง-ตลิ่งชัน
  9. ถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี ระหว่างแยกบางบัวทอง-สุพรรณบุรี
  10. ถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี ระหว่างสามแยกเตาปูน-สามแยกวัดลานนาบุญ
  11. ถนนรัตนาธิเบศร์ ระหว่างสี่แยกแคลาย-สะพานพระราม-ถนนบางบัวทอง-ตลิ่งชัน

รถประจำทาง
รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯมีรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ

(ขสมก.) มาจังหวัดนนทบุรี ดังนี้

  • สาย ๖๙ (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-สนามบินน้ำ)
  • สาย ๑๐๔ (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ปากเกร็ด)
  • สาย ๒๗ (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ประชานิเวศน์ ๓)
  • สาย ๖๓ (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-นนทบุรี)
  • สาย ๖๖ (สายใต้ใหม่-ประชานิเวศน์)
  • สาย ๓๐ (สายใต้ใหม่-นนทบุรี)
  • สาย ๗๐ (สนามหลวง-ประชานิเวศน์)
  • สาย ๒๐๓ (สนามหลวง-นนทบุรี)
  • สาย ๓๓ (สนามหลวง-ปทุมธานี)
  • สาย ๖๔ (สนามหลวง-ถนนสามเสน-นนทบุรี)
  • สาย ๙๐ (ย่านสินค้าพหลโยธิน-ท่าน้ำบางพูน)
  • สาย ๑๓๔ (ย่านสินค้าพหลโยธิน-อำเภอบางบัวทอง)
  • สาย ๑๑๔ (แยกลำลูกกา-นนทบุรี)
  • สาย ๑๑๗ (ห้วยขวาง-วัดเขมาฯ )
  • สาย ๑๒๗ (เชิงสะพานกรุงธนฯ-อำเภอบางบัวทอง)
  • สาย ๑๒๘ (เชิงสะพานกรุงธนฯ-บางใหญ่)
  • สาย ๓๒ (วัดโพธิ์-ปากเกร็ด)
  • สาย ๕๑ (ท่าน้ำบางโพ-ปากเกร็ด)
  • สาย ๕๒ (สถานีรถไฟบางซื่อ-ปากเกร็ด)
  • สาย ๖๕ (ท่าเตียน-วัดปากน้ำ)
  • สาย ๙๗ (โรงพยาบาลสงฆ์-นนทบุรี)

เรือ

มีเรือด่วนเจ้าพระยาบริการระหว่างเส้นทางจากท่าน้ำวัดราชสิงขร เขตยานนาวาถึงท่าน้ำนนทบุรี (ฝั่งพระนคร)อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ทุกวัน ระหว่างเวลา ๐๖.๐๐-๑๘.๐๐ น. เรือออกทุก ๒๐ นาที

สอบถามที่บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด โทร. ๐ ๒๒๒๒ ๕๓๓๐, ๐ ๒๒๒๕ ๓๐๐๓, ๐ ๒๖๒๓ ๖๐๐๑-๓ โทรสาร ๐ ๒๖๒๓ ๖๐๐๑๓

สถานที่ท่องเที่ยว

  • วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ฯ ตั้งอยู่ที่ ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง วัดแห่งนี้เดิมเป็นเพียงโรงเจขนาดเล็ก ต่อมาเจ้าอาวาสวัดเล่งเน่ยยี่ กรุงเทพฯ ร่วมกับพุทธบริษัทไทย-จีน ได้พัฒนาเป็นวัดที่สมบูรณ์สวยงามในเนื้อที่รวม 12 ไร่ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างถึง 12 ปี จึงแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯแทนพระองค์ ประกอบพิธีสมโภชเปิดวัดบรมราชากาญจนภิเษกอนุสรณ์ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2551
  • วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ฯ ก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมในยุคหมิง-ชิง โดยจำลองมาจากพระราชวังต้องห้ามในกรุงปักกิ่ง มีความสง่างามและมีรายละเอียดการตกแต่งที่ประณีตยิ่ง โดยทางวัดได้เชิญช่างฝีมือชั้นครูจากประเทศจีนมาดำเนินการก่อสร้างโดยตรง วิหารแต่ละหลังประดับด้วยลวดลายภาพเขียนสีพุทธศิลป์แบบจีนใช้สีน้ำเงิน แดงและทองเป็นหลัก ตามผนังและเพดานมีคาถา โอม มา นี ปะ หมี่ ฮง เป็นตัวอักษรสีทอง ที่เชื่อว่าขับไล่สิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ ได้ หลังคาวิหารมุงด้วยกระเบื้องเผาแบบจีน สีเหลืองเข้ม ที่ตรงมุมหลังคาทั้ง 4 มุมประดับด้วยรูปสัตว์มงคล ได้แก่ เทวดาขี่หงส์ มังกร สิงโต ม้าน้ำ ม้าเทวดา แพะเทวดาเขาเดียว กระทิงเทวดา ปลาเทวดาและนกเค้าแมว นอกจากนี้ รายรอบพระวิหารยังประดับด้วยหินแกะสลักต่าง ๆ มากมายซึ่งล้วนนำมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งเหมาะอย่างยิ่งแก่การศึกษาพุทธศิลป์ของจีน
  • เกาะเกร็ด เกาะเกร็ดเกิดขึ้นจากการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงส่วนที่เป็นแหลม ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ แห่งกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2265 เรียกว่า คลองลัดเกร็ดน้อย (คลองลัดเกร็ดใหญ่อยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ขุดลัดแม่น้ำเจ้าพระยาตอนท้ายอำเภอสามโคกมาทางใต้ถึงคลองขวางเชียงราก) ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางแรงขึ้นเซาะตลิ่งทำให้คลองขยาย แผ่นดินตรงแหลมจึงกลายเป็นเกาะ ชื่อเดิมเรียกว่า เกาะศาลากุน
    สถานที่น่าสนใจบนเกาะ ได้แก่ วัดปรมัยยิกาวาส (วัดปากอ่าว) ภายในวัดมี พระอุโบสถ พระวิหาร พิพิธภัณฑ์วัดปรมัยยิกาวาส กวานอาม่าน วัดเสาธงทอง วัดไผ่ล้อม วัดฉิมพลีสุทธาวาส ศูนย์เครื่องปั้นดินเผาหมู่ 1 สวนเกร็ดพุทธ คลองขนมหวาน

    • การเดินทาง สู่เกาะเกร็ดรถยนต์
      • เดินทางโดยรถยนต์มาที่ห้าแยกปากเกร็ดตรงไปตามถนนแจ้งวัฒนะทางไปเทศบาลปากเกร็ด จากห้าแยกประมาณ 20 เมตร ก่อนถึงโรงหนังเมเจอร์ฮอลลีวู้ด เลี้ยวซ้ายเข้าถนนภูมิเวท ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ถึงวัดสนามเหนือจอดรถทิ้งไว้ที่วัดแล้วนั่งเรือข้ามไปเกาะเกร็ดไปขึ้นเกาะเกร็ดที่วัดปรมัยยิกาวาส หรือไปที่วัดกลางเกร็ด นั่งเรือข้ามฟากไปขึ้นเกาะเกร็ดที่วัดป่าฝ้าย (เรือข้ามฟากบริการเวลา 05.00 - 21.30 น. ค่าโดยสารคนละ 2 บาท วัดสนามเหนือมีบริการจัดที่จอดรถรถยนต์สำหรับนักท่องเที่ยวค่าจอดรถคันละ 30 บาท  สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถประจำทางลงที่ป้ายโรงหนังเมเจอร์ฮอลลีวูด แล้วนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างไปที่ท่าเรือวัดสนามเหนือหรือวัดกลางเกร็ด ค่าโดยสารประมาณ 10 บาท)
      • เรือ เดินทางจากกรุงเทพฯ โดยเรือด่วยเจ้าพระยาออกจากท่าวัดสิงขรลงที่ท่าน้ำจังหวัดนนทบุรี ค่าโดยสารคนละ 22 บาท (เรือทัวร์) จากนั้นเช่าเหมาเรือหางยาวที่ท่าน้ำนนทบุรีไปที่เกาะเกร็ด หรือนั่งเรือรถประจำทางจากท่านน้ำนนทบุรีไปที่อำเภอปากเกร็ดแล้วลงเรือที่วัดสนามเหนือหรือวัดกลาง เรือบริการระหว่างเวลา 08.30-18.30 น. ติดต่อบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา โทร. 0 2222 5330, 0 2225 3002-3 หรือ www.chaophrayaboat.cp.th ใช้บริการแพ็กเกจเดินทางท่องเที่ยวเกาะเกร็ด 1 วัด เรือออกจากท่าช้างวังหน้า กรุงเทพฯ เที่ยวเกาะเกร็ด มีบริการมัคคุเทศน์นำชม ในวันเสาร์และอาทิตย์ เดินทางระหว่างเวลา 09.00-16.30 น. โดยเรือมิตรเจ้าพระยา โทร. 0 2623 6169 ค่าใช้จ่ายคนละประมาณ 250 บาท
    • สถานที่น่าสนใจบนเกาะ ได้แก่
      • วัดปรมัยยิกาวาส (วัดปากอ่าว) ในวัดนี้มีสิ่งที่น่าชมอยู่หลายอย่าง ที่ท่าเรือหน้าวัดจะพบปราสาทไม้ห้ายอดซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเหม(โลงศพมอญ) ของอดีตเจ้าอาวาสตั้งตระหง่านอยู่ ส่วนพระอุโบสถมีการตกแต่งด้วยวัสดุนำเข้าจากอิตาลี ศิลปะยุโรปแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่กระนั้นพระองค์ยังรักษาธรรมเนียมเดิม โดยรับสั่งให้ที่นี่ริเริ่มการสวดเป็นภาษามอญ และปัจจุบันนี้ ที่นี่เป็นวัดเดียวที่ยังเก็บรักษาพระไตรปิฏกภาษามอญไว้ พระประธานในพระอุโบสถนั้นเป็นพระปางมารวิชัย ฝีพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าประดิษฐานวรการ ผู้ที่สร้างพระสยามเทวาธิราช รัชกาลที่ 5 ทรงยกย่องว่าพระประธานองค์นี้งามด้วยฝีพระพักตร์ดูมีชีวิตชีวาเหมือนคนจริง ด้านหลังพระอุโบสถ มีพระมหารามัญเจดีย์ จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากอง ของพม่า
      • พระวิหาร ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์สมัยอยุธยาตอนปลาย ขนาดยาว 9.50 เมตร ภาพจิตรกรรมที่เพดานนั้นแปลกตากว่าที่อื่น เป็นภาพลายปฐมจุลจอมเกล้า หน้าพระวิหารประดับตราพระเกี้ยว เป็นตราประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านหลังพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี พระนนทมุนินท์ เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย ปางขัดสมาธิเพชร ประดิษฐานอยู่ในบุษบกแบบมอญ(จองพารา) สลักโดยฝีมือช่างที่นี่ ที่มุขเด็จหน้าวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน ซึ่ง ซาง ซิว ซูน ชาวพม่าถวายให้กับรัชกาลที่ 5 พระวิหารเปิดทุกวันตั้งแต่ 9.00-16.00 น.
        • เอกลักษณ์ของมอญอีกอย่างหนึ่งในวัดนี้คือ เจดีย์ทรงรามัญที่จำลองแบบมาจากพระธาตุเจดีย์มุเตา เมืองหงสาวดี ซึ่งคนมอญนับถือมาก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เนื่องจากเจดีย์อยู่ติดแม่น้ำ กระแสน้ำกัดเซาะฐานราก ทำให้เจดีย์มีลักษณะเอียง ดูแปลกตา นับเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเกาะเกร็ด
        • พิพิธภัณฑ์วัดปรมัยยิกาวาสและหอไทยนิทัศน์เครื่องปั้นดินเผา จัดแสดงวัตถุต่าง ๆ ที่ล้วนน่าชม เช่น พระพิมพ์ เครื่องแก้ว เครื่องถ้วยชาม รวมทั้ง เหมที่ พ.อ. ชาติวัฒน์ งามนิยม บรรจงสร้างขึ้นจนนับว่าเป็นงานศิลป์ ชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว นับตั้งแต่การออกแบบโครงสร้าง การต่อลาย การตอกไข่ปลาเพื่อต่อลายบนกระดาษอลูมิเนียม ทุกชิ้นส่วนที่นำมาประกอบเป็นเหมนี้ล้วนแต่ต้องทำอย่างละเอียด ประณีต เชื่อว่าชาวมอญคงดัดแปลงลักษณะของเหมมาจากโลงของพระพุทธเจ้าซึ่งก้นสอบปากบานข้างแคบเช่นกัน (ในพิพิธภัณฑ์แสดงภาพไว้) โลงเหมใช้กับศพแห้ง เหมพระจะมีลักษณะพิเศษกว่าตรงที่เจาะหน้าต่างมองเห็นศพด้านในได้ วันจันทร์-ศุกร์เปิดเวลา 13.00-16.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์เปิดเวลา 9.00-16.30 น. สอบถามรายละเอียดที่พิพิธภัณฑ์ โทร. 0 2584 512
      • วัดเสาธงทอง เป็นวัดเก่าเดิมชื่อ วัดสวนหมาก นอกจากเป็นที่ตั้งโรงเรียนประถมแห่งแรกของอำเภอปากเกร็ดแล้ว ด้านหลังโบสถ์ยังประดิษฐานเจดีย์ที่สูงที่สุดของอำเภอปากเกร็ดด้วย พระเจดีย์เป็นศิลปะอยุธยาย่อมุมไม้สิบสอง มีเจดีย์องค์เล็กเป็นบริวารโดยรอบอีก 2 ชั้น ส่วนด้านข้างโบสถ์มีเจดีย์องค์ใหญ่อีก 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังหรือทรงลังกา อีกองค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงมะเฟือง ภายในโบสถ์มีลายเพดานสวยงามมากเขียนลายทองกรวยเชิงอย่างงดงาม พระประธานเป็นพระปางมารวิชัยปูนปั้นขนาดใหญ่ คนมอญเรียกวัดนี้ว่า ?เพี๊ยะอาล๊าต?หน้าโบสถ์มีเจดีย์ขนาดย่อมสององค์รูปทรงคล้ายมะเฟืองฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง ประดับลายปูนปั้น
      • วัดไผ่ล้อม สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย มีโบสถ์ที่งดงามมาก ลายหน้าบันจำหลักไม้เป็นลายดอกไม้ มีคันทวยและบัวหัวเสาที่งดงามเช่นกัน คนมอญเรียกวัดนี้ว่า เพี๊ยะโต้
      • วัดฉิมพลีสุทธาวาส มีโบสถ์ขนาดเล็กงดงามมากและยังมีสภาพสมบูรณ์แบบดั้งเดิม หน้าบันจำหลักไม้เป็นรูปเทพทรงราชรถล้อมรอบด้วยลายดอกไม้ ซุ้มประตูเป็นทรงมณฑป ซุ้มหน้าต่างแบบหน้านาง ยังคงเห็นความงามอยู่ และฐานโบสถ์โค้งแบบเรือสำเภา
      • กวานอาม่าน พิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา เป็นศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านชาวมอญ จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผามอญลายโบราณ การปั้นเครื่องปั้นดินเผานั้นเป็นอาชีพชาวมอญมาตั้งแต่ครั้งตั้งถิ่นฐานแถบลุ่มแม่น้ำอิรวดี และมีมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี นับเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดนนทบุรี ลวดลายประณีตสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และยังเป็นสัญลักษณ์ตราประจำจังหวัดนนทบุรี สองข้างทางเดินบนเกาะมีบางบ้านที่ทำเครื่องปั้นดินเผา ภาชนะของใช้ ในชีวิตประจำวัน เช่น กระถาง ครก โอ่งน้ำ ฯลฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 09.00-17น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 2584 5086
      • คลองขนมหวาน  บริเวณคลองขนมหวานและคลองอื่น ๆ รอบเกาะเกร็ด ชาวบ้านที่อาศัยอยู่สองฝั่งคลองจะทำขนมหวาน จำพวกทองหยิบ ทองหยอด  ขายส่งและยังสาธิตให้นักท่องเที่ยวได้ชม  พร้อมซื้อกลับไปเป็นของฝาก
        • การเดินทาง ลงเรือข้ามฟากได้สองท่า คือ ท่าเรือวัดสนามเหนือ (ไม่ไกลจากท่าน้ำปากเกร็ด) หรือท่าเรือวัดกลางเกร็ด มีเรือบริการระหว่าง 05.00-21.30 น.
      • อุทยานเฉลิมกาญจนาภิเษก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ติดกับวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร มีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ กรมธนารักษ์เป็นผู้จัดสร้างขึ้นด้วยงบประมาณ 900 ล้านบาท เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และเพื่อเป็นที่พักผ่อนของประชาชน และเป็นศูนย์รวมพันธุ์ไม้น้ำ ไม้ชายน้ำ พืชสวน และสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 05.30-18.30 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม
      • อาคารที่เป็นจุดเด่น คือ วิมานสราญนวมินทร์ เป็นพลับพลาโถงเครื่องยอดแหลม ตั้งอยู่กลางสระน้ำ ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาลดชั้นยอดแหลมทรงมณฑป ประดับฉัตรสามชั้นสัญลักษณ์แสดงเครื่องยศของประเภทอาคารชั้นสูง  ถัดมาไม่ไกลเป็นเรือนไทยหมู่สำหรับพักผ่อนและบริการ เป็นเรือนไม้สักทั้งหลัง ประเภทเครื่องสับลูกประสัก (ลูกประสักคือ ไม้หมุดสำหรับตรึงกงเรือนต่างตะปู) ระดับชั้นคหบดีแต่โบราณบริเวณริมน้ำจากท่าเรือรับเสด็จเป็นส่วนของอาคารพลับพลาโถงจตุรมุขรับเสด็จ เป็นศาลาโล่งหลังคาลดชั้นสี่ทิศ และศาลาบริวารทั้งสามหลังเป็นงานไม้เครื่องลำยองรูปแบบอย่างโบราณ ลวดลายประยุกต์ออกแบบตามฉันทลักษณ์ ใช้ไม้สักแกะลงรักปิดทองคำเปลวร้อยเปอร์เซ็นต์ ประดับกระจกสีให้เหมาะกับลักษณะใช้สอยที่เป็นอาคารประกอบพิธี สุดมุมริมน้ำเป็นอาคารบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีแต่เดิม เป็นจุดเริ่มเข้าไปยังบรรยากาศของสวนผลไม้ที่อนุรักษ์ไว้ มีทั้งสวนกระท้อน ทุเรียน มังคุด ขนุน มะพร้าวน้ำหอม เป็นต้น
        • การเดินทาง
          • รถยนต์ เข้าไปตามถนนบางกรวย-ไทรน้อยแล้วเลี้ยวเข้าท่าน้ำนนทบุรี (ฝั่งธนบุรี) จะมีป้ายบอกทางตลอด หากมาจากฝั่งกรุงเทพฯข้ามสะพานพระราม 5 แล้วแยกเข้าถนนบางกรวย?ไทรน้อย หรือข้ามจากสะพานพระนั่งเกล้า ถึงแยกบางพลู เลี้ยวซ้ายผ่านวัดสวนแก้ว ขับไปตามทางมีป้ายบอกทางเช่นกัน
          • เรือ นั่งเรือด่วนเจ้าพระยาไปยังท่าน้ำนนทบุรีแล้วลงเรือหางยาวประจำเส้นทางไปคลองบางใหญ่ ออกจากท่าน้ำนนทบุรีทุก 20 นาที ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 นาที
          • รถโดยสารประจำทาง ขึ้นรถโดยสารประจำทาง หรือรถสองแถวจากท่าน้ำนนทบุรี (ฝั่งธนบุรี) สายวัดเฉลิมพระเกียรติ
10 กรกฎาคม 2556 | จำนวนเข้าชม 4607 ครั้ง